ฝ่าพายุร้าย

    ฝ่าพายุร้าย – ฤทธิ์ของ พายุปาบึก ที่เริ่มต้นจากการเป็นพายุดีเปรสชัน (ความเร็วลมไม่เกิน 61 ก.ม.ต่อช.ม.)
และขยับเป็นพายุโซนร้อน สร้างความเสียหายตามที่คาดการณ์ไว้ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 1
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2561 เมื่อพายุเริ่มก่อตัวเป็นดีเปรสชัน และทำให้ผู้คนเริ่มติดตามความเคลื่อนไหว
ของพายุลูกนี้เรื่อยมา โดยเฉพาะเมื่อมีการคาดการณ์ว่าปาบึกจะเป็นพายุโซนร้อนนอกฤดูที่รุนแรงที่สุด
เมื่อพัดถล่มชายฝั่งทางตะวันออกภาคใต้ ในรอบ 50 ปี ปฏิกิริยาของผู้คนที่ทั้งหวั่นวิตก
และให้กำลังใจผู้คนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ส่วนหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนเตรียมมาตรการช่วยเหลือ

    จุดนี้เป็นความแตกต่างของการรับมือพายุร้ายแรงในครั้งนี้กับสองครั้งก่อน พายุโซนร้อนที่พัดผ่านอ่าวไทย
และสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจน เป็นบันทึกในประวัติศาสตร์ คือพายุแฮเรียต และพายุเกย์
พายุแฮเรียต เป็นพายุโซนร้อนลูกแรก เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 2505 ขึ้นฝั่งบริเวณแหลมตะลุมพุก
อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ความเร็วลมสูงสุดสูงถึง 95 ก.ม.ต่อช.ม. สร้างความสูญเสียร้ายแรง
มีผู้เสียชีวิตกว่า 900 ราย ส่วนพายุเกย์ มีฤทธิ์แรงกว่าจนเป็นไต้ฝุ่นลูกแรกของประเทศไทย
 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532 มีความเร็วลมสูงสุด 185 ก.ม.ต่อช.ม.

  พายุเกย์ขึ้นฝั่งคือบริเวณรอยต่อระหว่าง อ.ปะทิว และ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร คร่าชีวิตผู้คน 500 ราย
และสูญหายอีกกว่า 400 คน ความเสียหายทางเศรษฐกิจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
สําหรับพายุปาบึก ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการในการพยากรณ์และติดตามเส้นทาง
และกำลังลมของพายุ บวกกับเทคโนโลยีในการสื่อสาร ทำให้การเตรียมพร้อมรับมือ
และหลีกเลี่ยงความเสียหายในวันนี้กับเมื่อ 30 ปี และ 57 ปีก่อนแตกต่างกันมาก
โดยเฉพาะการลดความสูญเสียในชีวิต ทั้งเรื่องการอพยพประชาชน นักท่องเที่ยว
ห้ามเดินเรือในพื้นที่เสี่ยง ฯลฯ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วต้องเร่งฟื้นฟูและเยียวยา
เพื่อให้ประชาชนกลับไปมีชีวิตตามปกติโดยเร็ว ภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ที่ทำได้คือบรรเทาความเสียหายให้น้อยที่สุด

ขอบคุณ ข่าวสด

 

Visitors: 150,345